เทคนิคการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สไตล์นักฟิสิกส์ระดับโลก

Feynman Technique เทคนิคการเรียนเรื่องใหม่ โดยหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกของศตวรรษที่ 20

Richard Feynman

ในการจัดอันดับนักฟิสิกส์ยอดเยี่ยมตลอดการ โดยสำนักข่าวบีบีซี ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) เป็นนักฟิสิกส์สมัยใหม่เพียงคนเดียวที่ติด 10 อันดับแรกของโลก แม้แต่สตีเฟ่น ฮอว์คิง ยังได้อันดับ 16

ผลงานของฟายน์แมนมีมากมาย เช่น ทฤษฎีควอนตัมอิเล็กโทรไดนามิกส์ ซึ่งทำให้เขาได้รางวัลโนเบล เมื่อปี ค.ศ. 1965

ในช่วงที่ฟายน์แมนเป็นอาจารย์อยู่ที่ California Institute of Technology (Caltech) เขาได้รับความชื่นชมในด้านการสอนวิชาฟิสิกส์เป็นอย่างมาก ด้วยการสอนที่น่าสนใจและแปลกใหม่ สามารถอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายและสนุก แม้แต่บิลล์ เกตต์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์เองก็ยังชื่นชมในวิธีการสอนของฟายน์แมน การสอนของฟายน์แมนถูกบันทึกและกลายเป็นหนังสือหลายเล่ม เล่มที่มีชื่อเสียงมากก็คือ The Feynman Lectures on Physics 

การสอนของฟายน์แมนในขณะเป็นอาจารย์ที่ Caltech

วิธีการเรียนรู้ของฟายน์แมนในช่วงที่เขายังเรียนอยู่ที่ Princeton University ก็เป็นอีกสิ่งที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีในชื่อ “Feynman technique” สมมติว่าเราอยากจะทำความเข้าใจเรื่องราวสักอย่างที่เป็นเรื่องใหม่ หรือเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ การใช้ Feynman technique มีขั้นตอนตามนี้ครับ

ขั้นที่ 1: เรากำลังจะศึกษาเรื่องอะไร

หากระดาษเปล่าหรือสมุดสักเล่มมา เขียนเรื่องที่เรากำลังจะศึกษาและลองเขียนทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นลงไป และกลับมาเขียนบันทึกเพิ่มเติมทุกครั้งเมื่อได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

ขั้นที่ 2: ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย

คราวนี้ลองอธิบายเรื่องเดิมที่เราต้องการศึกษาด้วยภาษาของเราเอง พยายามใช้ภาษาหรือคำที่เข้าใจง่าย ลองจินตนาการว่าเราจะทำอย่างไรถ้าจะต้องสอนเรื่องนั้นให้เด็กที่ไม่เคยรู้เรื่องให้เข้าใจ เพราะใครๆ ก็ทำเรื่องง่ายให้ยากขึ้นได้ แต่มีแค่บางคนเท่านั้นที่ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่ายได้

ขั้นที่ 3: หาช่องโหว่

จากขั้นที่ 2 ลองดูอีกทีว่ายังมีจุดไหนที่รู้สึกว่ายังไม่รู้ ยังไม่เคลียร์ หรือตกหล่นไปหรือไม่ ถ้าเจอช่องโหว่เหล่านี้ก็ลงมือหาข้อมูลเพิ่มเติมและลองเรียบเรียงดูอีกครั้ง

ขั้นที่ 4: ทบทวนอีกที

หลังอุดช่องโหว่เรียบร้อยแล้ว ก็มาทบทวนสิ่งที่เราลงมือเขียนไว้อีกครั้ง อย่าลืมทำให้เรื่องของเราเข้าใจได้ง่ายๆ จากนั้นอาจลองทดสอบโดยการอธิบายเรื่องนั้นให้คนอื่นฟังว่าเข้าใจหรือไม่ มีตรงไหนที่ยังเข้าใจยาก หรือสับสนอีกหรือเปล่า

Feynman Technique

Feynman technique เป็นหนึ่งในเทคนิคที่ดีซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ไม่ใช่เฉพาะกับการวิชาฟิสิกส์เท่านั้น นอกจากนี้แต่ละคนอาจมีวิธีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ยังไงลองเอาเทคนิคนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับเราดูนะครับ