วิศวะแต่ละสายต้องรู้ฟิสิกส์เรื่องไหนเป็นพิเศษ
ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปที่วิศวะแต่ละสาขา อยากให้น้องๆ เห็นเนื้อหาทั้งหมดของวิชาฟิสิกส์ที่จะได้เรียนในระดับปี 1 ก่อนครับว่าประกอบด้วย
- กลศาสตร์ (mechanics)
- การสั่นและคลื่น (vibrations and waves)
- เทอร์โมไดนามิกส์ (thermodynamics)
- ไฟฟ้าและแม่เหล็ก (electricity and magnetism)
- ฟิสิกส์ยุคใหม่ (modern physics)
วิชาฟิสิกส์ก็จะถูกนำไปใช้งานต่อหรือเรียนให้ลึกมากขึ้นอีกตามสาขาที่น้องเรียนอยู่ เช่น
– วิศวะเครื่องกล จะใช้เรื่องกลศาสตร์ การสั่น เทอร์โมไดนามิกส์
– วิศวะโยธา จะใช้เรื่องกลศาสตร์ การสั่น
– วิศวะเคมี จะใช้เรื่องกลศาสตร์ เทอร์โมไดนามิกส์
– วิศวะไฟฟ้า จะใช้เรื่องคลื่น ไฟฟ้า แสง ฟิสิกส์ยุคใหม่ (พื้นฐานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิด)
ไม่ว่าน้องจะเรียนอยู่วิศวะสาขาไหน ก็จะได้เรียนครบทุกหัวข้อในวิชาฟิสิกส์ คำถามที่จะตามมาก็คือว่า “ผมอยู่วิศวะเคมี แล้วจะเรียนไฟฟ้าไปทำไมครับพี่”
ทำไมต้องเรียนทุกอย่างในวิชาฟิสิกส์
พี่ก็ต้องพูดไปถึงการทำงานจริงในอนาคตครับ เราอาจจะต้องทำงานร่วมกันคนอื่นๆ เช่น น้องเรียนวิศวะเคมีแต่ต้องการเดินระบบไฟฟ้าในโรงงาน อาจจะต้องมีการสื่อสารกับคนที่เรียบจบวิศวะไฟฟ้าเพื่อให้ช่วยออกแบบอุปกรณ์ตามที่เราต้องการ ถ้าเรียนน้องวิศวะเคมีแต่ไม่เข้าใจภาษาที่วิศวะไฟฟ้าใช้เลย แบบนี้คงสื่อสารกันยากแน่ๆ ใช่มั้ยครับ
นี่ก็เลยเป็นหนึ่งเหตุผลที่น้องๆ ได้เรียนวิชาฟิสิกส์ครบทุกหัวข้อ เพราะวิชาฟิสิกส์จะสอนหลักการกว้างๆ ของทุกเรื่อง แม้ว่าน้องจะเรียนวิศวะเคมี แต่ก็ได้เรียนเรื่องไฟฟ้าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในวิชาฟิสิกส์แน่นอน เวลาได้ยินวิศวะไฟฟ้าคุยกันเราจะได้พอเข้าใจว่าเค้าพูดอะไรกันครับ
วิชาฟิสิกส์ต่างจากวิชาเฉพาะของวิศวะตรงไหน
วิชาฟิสิกส์เน้นไปที่การอธิบายกลไกของธรรมชาติตั้งแต่หลักการพื้นฐานจนถึงระดับที่ลึกและนามธรรมมากๆ แต่วิศวกรรมศาสตร์เน้นการนำความรู้ทางฟิสิกส์มาประยุกต์ให้ใช้ได้จริงๆ
ตัวอย่างเช่น ในเรื่องกลศาสตร์ของไหล วิชาฟิสิกส์ระดับปี 1 จะอธิบายการไหลของอากาศผ่านปีกเครื่องบินโดยใช้โมเดลของไหลอุดมคติและสมการแบร์นูลลี ซึ่งมีข้อจำกัดบางอย่างเพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ไม่ซับซ้อนเกินไป แต่น้องที่เรียนวิศวะเครื่องกล หรือวิศวะยานยนต์จะได้เรียนวิชากลศาสตร์ของไหลหรือวิชา aerodyamics แบบจัดเต็ม จะมีสมการที่ใช้อธิบายการไหลของอากาศผ่านปีกเครื่องบินให้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงมากขึ้น และอาจมีการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อทำนายพฤติกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย
ถึงจุดนี้น้องๆ น่าจะพอเห็นแล้วว่าถ้าอยากเรียนวิศวะให้ประสบความสำเร็จ พื้นฐานวิชาต่างๆ ในระดับปี 1 มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยครับ ถ้าตั้งใจเก็บความรู้วิชาต่างๆ ในปี 1 ให้ดี ก็จะต่อยอดในวิชาเฉพาะทางวิศวะได้ง่ายขึ้นครับ