11 วิชาที่ ปี1 วิศวะ เกือบทุกภาคต้องเรียน

ปี1 วิศวะ ต้องเรียนอะไรบ้าง มาดูกัน!!

  1. Calculus 1
    พี่จัดว่าเป็นแคลคูลัสที่สำคัญที่สุดในซีรีย์วิชาแคลคูลัสเลยครับ แคลฯ1 เหมือนเป็นฐานของพีระมิดในการเรียนวิศวะเลยก็ว่าได้ หากฐานไม่แข็งแรง ก็ยากที่จะสร้างพีระมิดที่มั่นคงและสมบูรณ์ได้ใช่มั้ยครับวิชานี้จะคล้ายกับแคลคูลัสพื้นฐานตอน ม.ปลายครับ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ
    1. Differential calculus หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ดิฟ” นั่นแหละ และ
    2. Integral calculus หรือที่เราเรียกว่า “อินทิเกรต”

    แต่ถึงจะเหมือนกันแต่แคลฯ1ระดับมหาลัย จะลึกกว่า ม.ปลายเยอะนะ เช่นตอน ม.ปลายเราจะเรียนการดิฟฟังก์ชันง่ายๆ แต่ในมหาลัยเราจะต้องดิฟได้ทุกฟังก์ชันครับ
    เรียนดิฟจบก็มาต่อที่อินทิเกรต และแน่นอนเราจะต้องอินทิเกรตฟังก์ชันพื้นฐานเป็นทุกฟังก์ชัน สิ่งที่ท้าทายเฟรชชี่อย่างพวกเราที่สุดสำหรับวิชานี้ยกให้ เรื่อง“เทคนิคอินทิเกรต” ทั้ง 5 แบบเลยครับ เจอหัวข้อนี้ไปดิฟก่อนหน้าคือง่ายไปเลย


  2. Physics 1
    วิชาพื้นฐานสำหรับเด็กวิศวะทุกคน เนื้อหามีหลายเรื่องครับ ตั้งแต่กลศาสตร์ คลื่น ของไหล จนไปถึงเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งเนื้อหาประมาณ 60% เหมือนตอน ม.ปลาย อีก 40% เป็นของใหม่

    วิชานี้ถือว่าเป็นวิชาปราบเซียนสำหรับเด็กปี 1 ถึงแม้ว่าเนื้อหาดูคล้ายกับตอน ม.ปลาย แต่มีความลึก เยอะกว่าและยากกว่า จะเริ่มมีการใช้แคลคูลัสเข้ามาผสมกับเนื้อหาฟิสิกส์ และอาจารย์จะสอนเร็วมากกกก น้องๆ หลายคนปรับตัวไม่ทัน ถ้าอยากเรียนฟิสิกส์ 1 ให้รู้เรื่องมากขึ้นพี่ขอแนะนำให้ทบทวนเรื่องเวกเตอร์ แคลคูลัส และเนื้อหาฟิสิกส์ตอน ม.ปลายให้แม่นๆ ครับ


  3. Lab Physics 1
    วิชานี้น้องๆ จะได้ลงมือทำการทดลองจริง จับอุปกรณ์จริงๆ โดยส่วนใหญ่จะได้จับคู่ทำการทดลองกับเพื่อนครับ ถ้าเข้าทำแล็บอย่างสม่ำเสมอก็จะผ่านวิชานี้ไปได้แบบสบายๆ เพราะวิชานี้เก็บคะแนนจากการเข้าแล็บเป็นหลัก

    การทดลองในวิชานี้จะล้อไปกับเนื้อหาในวิชาเลคเชอร์ โดยจะเริ่มตั้งแต่ฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์การวัดที่มีความละเอียด เช่น เวอร์เนียร์ ไมโครมิเตอร์ วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน (error) จากการวัด แล้วก็จะไปสู่การทดลองต่างๆ เช่น การหาค่า g จากการแกว่งลูกตุ้ม การหาค่า k ของสปริง การแกว่งของแท่งไม้ คลื่นนิ่งในเส้นเชือก ความหนืดของของไหล (มหาลัยต่างๆ อาจมีการทดลองที่แตกต่างกัน) การทดลองส่วนใหญ่จะเอาข้อมูลที่ทำการวัดได้มาเขียนกราฟเส้นตรง แล้วหาปริมาณที่ต้องการจากกราฟครับ


  4. Engineering Material วิชานี้ภาษาไทยชื่อวัสดุวิศวกรรม หรือเด็กวิศวะจะเรียนสั้นๆว่า Material ครับเนื่องจากความเข้าใจศาสตร์แห่งวัสดุ เป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจหลายวิชาด้านวิศวกรรม จึงจัดเป็นวิชาที่ปี1 จะต้องเรียน

    เนื้อหาของวิชานี้เราจะเรียนตั้งแต่สิ่งที่เล็กมากๆในเนื้อวัสดุนั่นคือโครงสร้างอะตอมจนไปถึงสมบัติต่างๆไม่ว่าจะเป็น ทางกล ทางเคมี และทางความร้อน
    จากนั้นจะเข้าสู่หัวข้อ “Phase diagram” หรือศึกษาการเปลี่ยนเฟสของวัสดุต่างๆ

    และในตอนท้ายน้องๆจะได้เรียนการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสม เช่น โลหะผสม พอลิเมอร์ เซรามิก ฯลฯ


  5. Engineering Drawing
    วิชานี้ภาษาไทยชื่อว่าเขียนแบบวิศวกรรม เป็นวิชาสุดคลาสสิกที่เด็กวิศวะปี1 เกือบทุกภาคต้องเรียน
    โดยวิชานี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคู่ขนานกันไป คือภาคบรรยาย กับ ภาคปฏิบัติ

    วิชานี้จะสอนน้องตั้งแต่อุปกรณ์เขียนแบบมีอะไรบ้าง รูปลักษณ์มาตรฐานสำหรับการอ่านแบบ drawing ที่วิศวกรต้องรู้ การเขียนแบบไอโซเมตริกและออบลีคทำอย่างไร จนไปถึงแนะนําการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียนแบบ

    ยากหรือป่าว? อันนี้แล้วแต่ความถนัด แต่ที่แน่ๆคือ งานเยอะมากกก ที่สำคัญคืองานที่ส่งต้องละเอียดมาก ใครทำชุ่ยๆไปโดนหักคะแนนยับ ฮ่าๆ


  6. Chemistry
    เคมีถือเป็นพื้นฐานความรู้หนึ่งที่วิศวกรต้องรู้ครับ
    โดยวิชานี้เหมือนเป็นการเอาวิชาเคมี ม.ปลายทั้งหมด มาลงเจาะลึก และมามัดรวมไว้ในวิชาเดียว ใครที่ไม่ค่อยชอบวิชานี้อาจจะไม่ถูกใจสิ่งนี้ 😃เราจะเรียนตั้งแต่ปริมาณสารสัมพันธ์ พื้นฐานของทฤษฏีอะตอม การจัดเรียงอะตอม คุณสมบัติของตารางธาตุ พันธะเคมี
    ต่อด้วยการศึกษาสสารในสภาวะต่างๆคือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส แบบเจาะลึก
    และสุดท้ายจะมาจบที่สมดุล และ ไฟฟ้าเคมี

    ดูจากชื่อพี่ว่าน้องคงคุ้นๆมาจาก ม.ปลายกันใช่มั้ยครับ แต่อย่างที่พี่บอกครับ เนื้อหาของมหา’ลัยจะลึกกว่ามาก


  7. Chemistry Lab
    ในวิชานี้น้องๆจะได้ใช้ความรู้จากวิชา Fundamental Chemistry มาใช้ปฏิบัติในห้องปฏิบัติการจริงๆครับหัวข้อในแต่ละรายละเอียดก็จะสร้างกับเรื่องที่เรียนใน lecture วิชา Chemistry เลย โดยน้องๆจะได้จับกลุ่มกับเพื่อนๆ ใช้อุปกรณ์ในแลปจริง สารเคมีจริง ปฏิบัติและบันทึกผลภายใต้การควบคุมของอาจารย์และพี่ๆผู้ช่วย

    จากนั้นนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ว่าตรงกับทฤษฏีที่เรียนมาหรือไม่ ถือเป็นอีก 1 วิชาที่สนุกและได้ความรู้มากๆ


  8. Calculus 2
    หลังจากที่เรามีความรู้เรื่องดิฟ และ อินทิเกรตอย่างแตกฉานในวิชาแคลฯ1 แล้ว เราจะไปสู่เนื้อหาที่ advance ขึ้นกัน โดยวิชานี้พี่ขอแบ่งเป็น 2 หัวข้อหลักๆคือ
    1. การดิฟ และ อินทิเกรตฟังก์ชันหลายตัวแปร และ
    2. ลำดับและอนุกรมอนันต์

    มาเริ่มกันที่ข้อ 1. น้องจะต้องเรียนตั้งแต่กราฟ, domain-range ของฟังก์ชันหลายตัวแปร(เหมือนกลับไปเรียนเรื่องฟังก์ชันใหม่) จนไปถึงหัวข้อใหญ่ๆคือการเคิล(การดิฟของฟังก์ชันที่มากกว่า 1 ตัวแปร) และ อินทิเกรตหลายชั้น

    ส่วนข้อ 2. แม้จะชื่อคล้ายกับ ม.ปลาย แต่เราจะเรียนลำดับ และ อนุกรม ชนิดอนันต์เท่านั้น น้องๆคิดว่าผลบวกที่บวกกันไม่สิ้นสุดจะไปจบที่ไหน? ถ้าอยากรู้ต้องเรียน 😃 แต่บอกไว้ก่อน สำหรับพี่ยกให้บทนี้เป็นบทที่ยากติด TOP3 ในจักรวาลแคลคูลัสเลย


  9. Physics 2
    วิชานี้เป็นภาคต่อจาก Physics 1 เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก วงจรไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แสง และฟิสิกส์ยุคใหม่ แค่เห็นเรื่องไฟฟ้าน้องๆ หลายคนก็เริ่มเบะปากแล้วใช่มั้ยครับ

    ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเนื้อหาในวิชานี้ก็ยากกว่า Physics 1 แน่นอน ต้องใช้จินตนาการมากขึ้น มีการใช้คณิตศาสตร์มากขึ้นทั้งเวกเตอร์และแคลคูลัสเข้ามาคำนวณแบบจริงจัง แต่ก็ไม่ได้ยากไปซะทุกเรื่องนะครับ เรื่องที่ง่ายๆ เรียนแล้วเห็นภาพชัดๆ ก็มีอย่างเช่นเรื่องแสง วิชานี้อาจจะยากซักหน่อย แต่ถ้าน้องๆ เปิดใจ เรียนด้วยความเข้าใจ และทำโจทย์บ่อยๆ ก็จะผ่านวิชานี้ไปได้แน่นอนครับ !


  10. Lab Physics 2
    วิชานี้เป็นการลงมือปฏิบัติเช่นเดียวกับในเทอมแรกครับ การทดลองในวิชานี้ก็จะล้อไปกับวิชาเลคเชอร์ซึ่งจะเป็นเรื่องไฟฟ้าอุปกรณ์การทดลองจะเริ่มซับซ้อนขึ้น เช่น มัลติมิเตอร์ ออสซิลโลสโคป น้องๆ จะได้ทดลองต่อวงจรไฟฟ้าตั้งแต่แบบง่ายๆ จนไปถึงวงจรที่ซับซ้อน นอกจากนี้ก็จะมีการทดลองเกี่ยวกับแสง ถ้าเรียนเรื่องนี้ในวิชาเลคเชอร์อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าได้ลงมือทำแล็บ เห็นผลการทดลองจริงๆ จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้นครับ


  11. Computer Programming
    เป็นวิชาที่จะสอนเราเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ซึ่งภาษาที่ใช้เขียนก็แล้วแต่หลักสูตรของแต่ละมหา’ลัยเลยครับ มีทั้งภาษา C, C++ และ Python แต่การเขียนโปรแกรมมีพื้นฐาน logic ที่คล้ายกันต่างกันแค่ภาษาที่ใช้ดังนั้นหากเข้าใจซักภาษาหนึ่ง ก็จะศึกษาภาษาอื่นๆได้ไม่ยากครับ

    โดยในวิชานี้จะเรียนตั้งแต่ชนิดของข้อมูล การเขียน flow chart การเขียนโปรแกรมแบบมีเงื่อนไข คําสั่งทํางานแบบวน loop การเรียนฟังก์ชันเป็นต้น โดยในแต่ละหัวข้อที่เรียนเราก็จะได้รับ assignment ให้ลองเขียนโปรแกรมแล้วส่งในทุกๆ week

    และในช่วงท้าย น้องๆจะได้ทำโปรเจคเขียนโปรแกรมจริงๆเป็น final project ของวิชานี้ครับ


หากน้องๆคนไหน สนใจคอร์สปูพื้นฐานสู่การเรียนวิศวะอยากมั่นใจ ทางสถาบัน be-engineer ขอเสนอคอร์สปรับพื้นฐาน 3 วิชา ได้แก่

1. แคลคูลัส: be-engineer.com/pre-calculus
2. ฟิสิกส์: be-engineer.com/pre-physics
3. เคมี: be-engineer.com/pre-chemistry